• ห้องเรียนครูวาวโรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์

ความหมายของนาฎศิลป์พื้นเมือง

นาฏศิลป์พื้นเมือง หมายถึงการแสดงที่เน้นความเป็นเอกลักษณ์ เฉพาะถิ่น ท่ารำ ลีลา ดนตรี ได้รับการสั่งสมสืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษที่ได้คิดประดิษฐ์ท่ารำขึ้นจากพื้นฐานของชาวบ้าน ตามสภาพความเป็นอยู่ การแต่งกายจะแต่งตามลักษณะท้องถิ่น และพัฒนามาเป็นนาฏศิลป์พื้นเมือง

ความเป็นมาของนาฏศิลป์พื้นเมือง

               สังคมชาวบ้านเป็นสังคมเกษตรกรรม อาศัยธรรมชาติเลี้ยงชีพ จึงมีพิธีกรรมและการละเล่น เพื่อขอพรเพื่อให้พืชผลอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านมีชีวิตเรียบง่ายสะท้อนออกมาเป็นศิลปะพื้นเมือง เช่น ภาคเหนือลักษณะการแสดงออกจะเชื่องช้า เปิดเผย ก้าวอย่างเนิบๆ ได้แก่ ฟ้อนต่างๆภาคกลาง จะเน้นที่ลำนำ การขับกลอน ภาคอีสานจะมีจังหวะคึกคัก กระฉับกระเฉง แสดงให้เห็นความร่าเริง ส่วนภาคใต้เน้นที่จังหวะเด่นชัด เป็นต้น
                วัฒนธรรมพื้นเมืองที่เป็นความบันเทิงเกิดขึ้นเพื่อผ่องคลายความเครียดเริ่มจากการใช้ภาษา ที่คล้องจองและพัฒนาเป็นเพลงชาวบ้าน ร้องถ่ายทอดกันมา โดยวิธีจำปากต่อปาก มีการร้องรำ ทำท่าเพลง จึงเกิดเป็นระบำชาวบ้าน และพัฒนาไปสู่การแสดงที่ใช้ลีลาท่ารำ มีดนตรีพื้นเมืองประกอบการแสดง แต่งกายให้งดงามแต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของท้องถิ่นไว้
                นาฏศิลป์พื้นเมืองแต่ละภาคจะมีที่มาจากสภาพสังคม ความเชื่อ พิธีกรรม และความศรัทธา ในพระพุทธศาสนา ซึ่งสภาพสังคมไม่ว่าจะเป็นสังคมเมืองหรือสังคมชนบทย่อมต่างก็ต้องแสวงหา ความบันเทิง เพื่อเป็นการพักผ่อนหย่อยใจ เช่นสังคมเกษตรจะมีการเล่นเพลงเกี่ยวข้าว เต้นกำรำเคียว มีการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว การแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองจึงเกิดขึ้น ส่วนความเชื่อและพิธีกรรมเนื่องจากชาวบ้านมีความเชื่อในเรื่องเคล็ดลาง นับถือภูตผีวิญญาณ จึงเกิดมีบวงสรวงประกอบพิธีกรรม จึงทำให้เกิดนาฏศิลป์พื้นเมือง
                ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดนาฏศิลป์พื้นเมืองขึ้น เช่น เมื่อถึงเทศกาลงานบุญซึ่งเป็นประเพณีของชาวบ้าน ก็จะมีการจัดงานบันเทิงเพื่อให้ชาวบ้านมารวม ตัวกันเพื่อทำบุญ เป็นต้น

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการแสดงนาฏศิลป์พื้นเมือง

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์ศิลปะการแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองของแต่ละภาค
                มีหลายประการ ดังนี้
-การทำมาหากินเลี้ยงชีพ
-สภาพภูมิศาสตร์
-คติความเชื่อ
-ขนบธรรมเนียมประเพณี
-วัฒนธรรมต่างชาติ
                การแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองของไทยในแต่ละท้องถิ่น จะแฝงไว้ซึ่งศิลปะ วัฒนธรรมขนบธรรมเนียม ประเพณี เอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น และจิตใจของประชาชนในแต่ละท้องถิ่น ว่าเป็นอย่างไร การแสดงพื้นเมืองในแต่ละภาคหรือแต่ละท้องถิ่นจึงมีลีลาการแสดงที่แตกต่างกันออกไป

ลักษณะการแสดงของแต่ละภาค ในรูปแบบต่าง ๆ

การแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองภาคเหนือ

ที่มาของภาพ : https://www.vsotour.com/th/blog-th/185
                มีหลายประการ ดังนี้การแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองภาคเหนือ เรียกว่า ฟ้อน ภาคเหนือมีกานฟ้อนที่แบ่งได้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มฟ้อนแบบดั่งเดิมที่มีช่างฟ้อนเป็นชาวบ้าน ทำหน้าที่สืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมาหลาย ชั่วอายุคน ลีลาท่าฟ้อนไม่เคร่งครัดต่อระเบียบแบบแผนมากนัก เป็นการเลียนแบบ การเคลื่อนไหว ของมนุษย์แตกต่างกันไปตามเผ่าพันธุ์และความเชื่อของกลุ่มชนนั้นๆ เช่น ฟ้อนเงี้ยว ของไทยใหญ่ ฟ้อนม่านของพม่า ลีลาท่าฟ้อนของชาวพื้นเมืองจะสะท้อนถึงสภาพความเป็นอยู่ ที่เรียบง่ายและกลุ่มฟ้อนที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมหลวง ลักษณะลีลาท่าฟ้อน จะมีระเบียบแบบแผนประณีตงดงาม ถ่ายทอดมาจากราชสำนักสยาม ผู้ฟ้อนเป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์ฝ่ายใน จะฟ้อนเฉพาะงานที่สำคัญในเขตพระราชฐาน เช่น การตอนรับแขกบ้าน แขกเมืองในขุมเจ้าหลวงเป็นต้น ในทีนี้จะให้นักเรียนได้ศึกษาพอเป็นพื้นฐานความรู้ ของการแสดงฟ้อนเทียน
                การแสดงชุดฟ้อนเทียน ฟ้อนเทียนเป็นศิลปะการฟ้อนเช่นเดียวกับการฟ้อนเล็บ การฟ้อนมักจะก้าวเท้าเรียงตามกันช้าๆ ผู้ฟ้อนจะถือเทียนจุดไฟ จึงนิยมใช้ในเวลากลางคืน ความงามของการฟ้อนเทียนอยู่ที่ความพร้อมเพรียง และ ความเป็นระเบียบของผู้แสดง แสงเทียนที่ส่องสว่างวับแวมในยามค่ำคืนทำให้การฟ้อนน่าดูยิ่งนัก

การแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองภาคกลาง

                ศิลปะการแสดงหรือการละเล่นพื้นเมืองของภาคกลางมีหลายประเภท แต่ละประเภทจะเล่นกันในหน้าเทศกาลบ้าง เล่นกันทั่วๆไปบ้าง บางประเภทเป็นการร้องโต้ตอบกัน บางประเภทก็ร้องดำเนินเรื่องเรื่อยไปจนจบ เช่น เพลงเรือ เพลงหน้าใย นิยมเล่นกันในเทศกาลกฐิน ผ้าป่า เพลงเกี่ยวข้าว เพลงสงฟาง เพลงสงคอลำพวน เพลงชักดาบ และเพลงเต้นกำรำเคียว นิยมเล่นในฤดูเกี่ยวข้าว เพลงเหย่ย เพลงพวงมาลัย เพลงระบำบ้านไร่ นิยมเล่นในเทศกาลตรุษสงกรานต์เพลงปรบไก่ เพลงเทพทอง เพลงระบำบ้านนา เพลงอีแซว เพลงลำตัด เพลงฉ่อย ไม่จำกัดเวลา ในที่นี้จะกล่าวถึงศิลปะการแสดงหรือการละเล่นพื้นเมืองบางชนิด เพื่อจะได้ทราบไว้เป็นแนวทางการศึกษา คือ
                การแสดงชุดรำเถิดเทิง-เทิ่งบองกลองยาว มีเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 4 สันนิษฐานว่า เป็นการละเล่นของทหารพม่าที่เข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยาคนไทยนำมาปรับปรุงให้มีท่ารำ และการแต่งกายแบบไทย
                รำกลองยาวนี้บางที่เรียกว่า “เทิ่งบอง” ตามเสียงกลองที่ตี เป็นการละเล่นที่สนุกสนาน ของชาวภาคกลาง ปรับปรุงท่ารำให้งดงาม การแสดงฝ่ายชายจะสะพายกลองยาวรำคู่กับฝ่ายหญิง ในการร่ายรำมีการตีกลองยาวสลับกันไป จะมีผู้ตีเครื่องประกอบจังหวะได้แก่ ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง และกองยาว เพื่อให้เกิดความสนุกยิ่งขึ้น นิยมเล่นในงานประเพณีต่างๆ

การแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองภาคอีสาน

                การแสดงพื้นเมืองภาคอีสานมีหลายชนิดแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมท้องถิ่นโดยหลักใหญ่ๆจำแนกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอีสานเหนือ ได้แก่ จังหวัดต่างๆ ในภาคอีสานยกเว้น 3 จังหวัดในกลุ่มอีสานใต้ คือ จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ กลุ่มอีสานเหนือมีการแสดงพื้นเมือง เช่น เซิ้งบั้งไฟ หมอลำ เป็นต้นกลุ่มอีสานใต้มีการแสดงพื้นเมือง คือ เรือมอันเร กันตรึม กโน้บติงตอง เป็นต้น
                การแสดงชุดเรือมอันเร เรือมอันเรหรือกระทบสาก มีชื่อเสียงในกลุ่มวัฒนธรรมไทย-เขมร เริ่มเล่นตามลานบ้าน หลังจากตำข้าวเสร็จจะมีหนุ่มมาแสดงความสามารถเอาสากมากระทบแล้วกระโดดข้ามสากเข้า-ออก ต่อมานิยมเล่นในเทศกาลตรุษต่างๆ เช่น ตรุษสงกรานต์ เป็นต้น ผู้แสดงทั้งหญิงและชาย มีผู้กระทบสากเป็นชาย 2 คน อยู่คนละข้าง การแต่งกายหญิงจะนุ่งผ้าซิ่น หรือโจงกระเบน สวมเสื้อแขนสามส่วนหรือแขนยาว คล้องผ้าเฉียงบ่า ส่วนชายนุ่งโจงกระเบน เสื้อคอกลมแขนสั้น มีผ้าคล้องไหล่และผ้าคาดพุง

การแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองภาคใต้

                การแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองภาคใต้เป็นภาคที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศมาลาเชียและเป็นดินแดนที่ติดทะเล ทำให้เกิดการผสมผสานทั้งทางศาสนา วัฒนธรรม และอารยธรรม จากกลุ่มชนหลายเชื้อชาติ เกี่ยวโยงถึงศาสนาและพิธีกรรม จนทำให้นาฏศิลป์ และดนตรีในภาคใต้ มีลักษณะที่เป็นเครื่องบันเทิงทั้งในพิธีกรรม และพิธีชาวบ้าน รวมทั้งงานรื่นเริงโดยมีลักษณะการแสดง ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ คือมีจังหวะที่เร่งเร้า กระฉับกระเฉง ผิดจากภาคอื่นๆ และเน้นจังหวะมากกว่าท่วงทำนอง โดยมีลักษณะที่เด่นชัดของเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีให้จังหวะเป็นสำคัญ ส่วนลีลาท่ารำจะมีความคล่องแคล่วว่องไว สนุกสนาน
                โนรา เป็นนาฏศิลป์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ในบรรดาศิลปะการแสดงของภาคใต้ มีความยั่งยืนมานับเป็นเวลาหลายร้อยปี การแสดงโนราเน้นท่ารำเป็นสำคัญ ต่อมาได้นำเรื่องราว จากวรรณคดีหรือนิทานท้องถิ่นมาใช้ในการแสดงเรื่อง พระสุธนมโนห์ราเป็นเรื่องที่มีอิทธิพล ต่อการแสดงมากที่สุดจนเป็นเหตุให้เรียกการแสดงนี้ว่า มโนห์รา
                ตามตำนานของชาวใต้เกี่ยวกับกำเนิดของโนรา มีความเป็นมาหลายตำนาน เช่น ตำนานโนรา จังหวัดตรัง จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลาและจังหวัดพัทลุง มีความแตกต่างกันทั้งชื่อ ที่ปรากฏในเรื่องและเนื้อเรื่องบางตอน ทั้งนี้อาจสืบเนื่องมาจาก ความคิด ความเชื่อ ตลอดจน วิธีสืบทอดที่ได้มาจากความประทับใจที่มีต่อธรรมชาติ เช่น ท่าลีลาของสัตว์บางชนิดมีท่ามัจฉา ท่ากวางเดินดง ท่านกแขกเต้าเข้ารัง ท่าหงส์บิน ท่ายูงฟ้อนหาง ฯลฯ ท่าเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ท่าพระจันทร์ทรงกลด ท่ากระต่ายชมจันทร์ ต่อมาเมื่อได้รับวัฒนธรรม จากอินเดีย เข้ามาก็มี ท่าพระลักษมณ์แผลงศร พระรามน้าวศิลป์ และท่าพระพุทธเจ้าห้ามมา ท่ารำและศิลปะการรำต่างๆ ของโนรา ท่านผู้รู้หลายท่านเชื่อว่าเป็นต้นแบบของละครชาตรีและการรำแม่บทของรำไทยด้วย